ปฎิวัติความจำเสื่อม
ในหนังสือ โอ-ลั่นลา ฉบับที่ ๓ มีคอลัมน์เล็กๆ ท้ายๆ เล่ม ได้พูดถึงการปฏิวัติความจำเสื่อม ด้วยการออกมาท่องเที่ยว โดยคุณหมอบอกว่า … ธรรมชาติรอบตัวและกิจกรรมแสนสนุกคือยารักษาโรคความจำเสื่อมชั้นเลิศ
แต่ใครมีพ่อแม่ป่วยเป็นโรคนี้คงตะขิดตะขวงใจ ไม่กล้าปล่อยพ่อแม่ไปไกลเกินกว่าประตูบ้าน หากตัดขาดจากโลกวันแล้ววันเล่า พอรู้ตัวอีกทีอาจไม่ใช่แค่ความจำ แต่ร่างกายและจิตใจจะค่อยๆ เสื่อมตาม
เมื่อเด็กๆ มีแหล่งเที่ยวสวนสนุกมากมาย ทำไมผู้สูงอายุจะมีบ้างไม่ได้
เมือง Cornwell ทางตอนใต้ของอังกฤษได้ผุดโปรเจ็กต์ สร้าง Creative & Space สำหรับผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมโดยเฉพาะ โดยชักชวนผู้ป่วยมาร่วมทริปสีเขียวเน้นตะลอนเที่ยวธรรมชาติ เช่น ไปเดินเล่นสวนสาธารณะ ร่วมก๊วนตกปลา จริงจังหน่อยก็แคมปิ้ง โดยคนเตรียมทริปก็คือเพื่อนในก๊วนนั่นแหละ ใครเก่งเรื่องไหน ชอบทำอะไรก็มาร่วมแชร์ แม่บ้านที่มีฝีมือทำอาหารก็คอยดูแลปากท้องเพื่อนร่วมทริป โดยกิจกรรมเหล่านี้มีอาสาสมัครคอยดูแลรับ-ส่งตลอดการเดินทาง
การแฝงตัวอยู่กับธรรมชาติกระตุ้นให้สมองส่วนสร้างสรรค์ถูกทำงาน และเมื่อต้องคิดแก้ปัญหา รับผิดชอบหน้าที่ แบ่งปันทักษะความชำนาญกับคนอื่น ยิ่งทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีคุณค่า มีชีวิตชีวาขึ้นมา และเรียกความมั่นใจให้กลับคืนมา
ในบ้านเรา มีกิจกรรมแบบไทยๆ สำหรับผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ คือการได้ไปวัดทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ฟังธรรม แล้วล้อมวงกินข้าวร่วมกัน พูดคุย ถามไถ่ทุกข์สุข เล่าเรื่องราวแต่หนหลัง เป็นการกระตุ้นความทรงจำ
ในสังคมเมืองที่ต่างคนต่างอยู่ กิจกรรมเหล่านี้มีน้อยลง จะมีก็แต่เทศกาลใหญ่ๆ นานๆ ครั้ง ที่สมาชิกในบ้านจะพร้อมหน้าพร้อมตาได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
กลุ่มสูงวัยใจอาสา ให้ความสำคัญผู้สูงอายุในการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของชุมชน เช่น การชวนผู้สูงอายุ ออกมาทำสวนครัวชุมชนร่วมกับลูกหลาน การสอนงานประดิษฐ์ให้กับเด็กๆ และผู้สนใจ การจัดวันเกิดสมาชิกที่สนามของชุมชน และการจัดทัวร์ย่อยในกลุ่มสมาชิก
สำหรับทริปปฎิวัติความจำเสื่อม ยังคงอีกนาน แต่จะมีทริปสร้างประสบการณ์ และความทรงจำดีดี เป็นทัวร์หาความรู้เพื่อการใช้ชีวิตแบบพอเพียง กับการทำเกษตรครัวเรือน การถ่ายทอดอาชีพ เพื่อให้ทุกคนนำมาส่งเสริมเป็นกิจกรรมร่วมในชุมชน
ออกมาสร้างความทรงจำดีดีร่วมกัน เพื่อป้องกันสมองเสื่อม กับพวกเรานะครับ
ลุงแดง ใจอาสา
1 มกราคม 2559